บทคัดย่อ
ชื่อเรื่อง ผลการใช้ชุดการสร้างความรู้เรื่อง สถิติ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ โรงเรียนบ้านแม่คำ (ประชานุเคราะห์)
ชื่อผู้ศึกษา นายพิพัฒ พรมหาลา
สาขาวิชา คณิตศาสตร์
ปีที่ศึกษา 2554
การศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างและหาประสิทธิภาพของชุดการสร้างความรู้เรื่อง สถิติ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ เพื่อศึกษาผลสัมฤทธิ์ทาง การเรียนคณิตศาสตร์ เรื่อง สถิติ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยการเปรียบเทียบระหว่างคะแนน ก่อนเรียนและหลังเรียน และเพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2554 โรงเรียนบ้านแม่คำ (ประชานุเคราะห์) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 3 ที่เรียนโดยใช้ชุดการสร้างความรู้เรื่อง สถิติ ประชากรที่ใช้ในการศึกษาได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 75 คน กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3/1 จำนวน 25 คน ซึ่งได้มาจากการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) โดยใช้ห้องเรียนเป็นหน่วยสุ่ม (Sampling Unit) เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา คือ ชุดการสร้างความรู้เรื่อง สถิติ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ จำนวน 10 ชุด แผนการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดการสร้างความรู้เรื่อง สถิติ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ จำนวน 12 แผน แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเรื่อง สถิติ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 40 ข้อ และแบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนกลุ่มตัวอย่าง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3/1 ที่มีต่อชุดการสร้างความรู้เรื่อง สถิติ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ จำนวน 1 ชุด ผลการศึกษาพบว่า
1. ประสิทธิภาพของชุดการสร้างความรู้เรื่อง สถิติ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ พบว่า นักเรียนทำแบบฝึกหัดระหว่างเรียนมีประสิทธิภาพของกระบวนการเฉลี่ยรวมร้อยละ 83.02 แบบทดสอบหลังเรียนมีประสิทธิภาพของผลลัพธ์เฉลี่ยรวมร้อยละ 82.00 E1/E2 เท่ากับ 83.02/82.00 ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด 80/80
2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์ เรื่อง สถิติ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ของนักเรียนจากการเปรียบเทียบระหว่างคะแนนก่อนเรียนกับหลังเรียน นักเรียนมีคะแนนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
3. ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนการสอนโดยภาพรวมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด