เรื่อง การประเมินโครงการโรงเรียนวิถีพุทธ ดำเนินตามรอยพระยุคคลบาท โดยใช้กลยุทธ์ “บวร” ของโรงเรียนพระราม ๙
กาญจนาภิเษก สังกัดกรุงเทพมหานคร
ผู้รายงาน นางสาวฉัฐนันท์ พุ่มเรือง
ปีการศึกษา 2553
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลโครงการโรงเรียนวิถีพุทธ ดำเนินตามรอยพระยุคคลบาท โดยใช้กลยุทธ์ “บวร” ของโรงเรียนพระราม ๙ กาญจนาภิเษก สังกัดกรุงเทพมหานครตามความคิดเห็นของครู นักเรียน และผู้ปกครอง โดยผู้ศึกษาใช้รูปแบบการประเมินแบบซิปป์(Cipp model) ในการประเมิน 4 ด้าน ดังนี้คือ การประเมินด้านสภาวะแวดล้อม(Context evaluation)การประเมินด้านปัจจัยเบื้องต้น(Input evaluation) การประเมินด้านกระบวนการ (Process evaluation) และการประเมินด้านผลผลิต(Product evaluation) และเพื่อนำเสนอแนวทางในการพัฒนาโรงเรียนวิถีพุทธของโรงเรียนพระราม ๙ กาญจนาภิเษก สังกัดกรุงเทพมหานครกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ ครูจำนวน 38 คน นักเรียน จำนวน 150 คน และผู้ปกครอง จำนวน 150 คน รวมทั้งสิ้น 338 คน คน โดยการสุ่มตัวอย่างและกำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างตามตามตารางของ Krejcie และ Morgan กลุ่มตัวอย่างได้มาโดยวิธีการสุ่มแบบแบ่งชั้น(Stratified random sampling) โดยเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือแบบสอบถามที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ(Rating Scale) แล้วนำมาวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS for Windows คำนวณหาค่าสถิติ โดยการหาค่าร้อยละ(Percentage) หาค่าเฉลี่ย(Mean) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน( Standard Deviation) ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้
1. ผลการประเมินด้านสภาพแวดล้อมหรือบริบท(Context Evaluation) ความคิดเห็นโดยรวมพบว่า มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายข้อพบว่า พบว่าข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ โครงการมีความสอดคล้องของกับนโยบายของรัฐบาล อยู่ในระดับมากที่สุด รองลงมา คือโครงการมีความสอดคล้องของกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 อยู่ในระดับมากที่สุด โครงการมีความสอดคล้องกับนโยบายของกับสำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร อยู่ในระดับมากที่สุด ตามลำดับ ข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุดคือโครงการมีความสอดคล้องกับสภาพความต้องการของผู้ปกครอง/ชุมชน อยู่ในระดับมาก
2. ผลการประเมินด้านปัจจัยเบื้องต้น(Input Evaluation) ความคิดเห็นโดยรวม พบว่ามีความเหมาะสมด้านปัจจัยเบื้องต้นโดยรวม อยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายข้อพบว่า ทุกข้ออยู่ในระดับมาก เรียงตามค่าเฉลี่ยจากมากไปน้อย ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ กิจกรรมในโครงการโรงเรียนวิถีพุทธมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก รองลงมาคือ สถานที่ในการดำเนินโครงการเพียงพอและเหมาะสม อยู่ในระดับมาก บุคลากรที่ดำเนินโครงการมีความรู้ เข้าใจในหลักการพัฒนาผู้เรียนตามหลักไตรสิกขา อยู่ในระดับมาก เช่นเดียวกับโรงเรียนมีแหล่งเรียนรู้ที่เอื้อต่อการดำเนินการโครงการ อยู่ในระดับมาก ตามลำดับ ข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ โรงเรียนได้จัดงบประมาณในการสนับสนุนโครงการอย่างเหมาะสมและพอเพียง อยู่ในระดับมาก
3. ผลการประเมินด้านกระบวนการ(Process Evaluation) ความคิดเห็นโดยรวม พบว่ามีความเหมาะสมด้านกระบวนการโดยรวม อยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายข้อ พบว่า ทุกข้ออยู่ในระดับมาก เรียงตามค่าเฉลี่ยจากมากไปน้อย ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ โรงเรียนกำหนดแผนการดำเนินงานในโครงการโรงเรียนวิถีพุทธอย่างชัดเจน อยู่ในระดับมาก รองลงมา การดำเนินกิจกรรมเป็นไปตามแผนและปฏิทินที่กำหนด อยู่ในระดับมาก โรงเรียนได้วิเคราะห์ปัญหาและความต้องการในการพัฒนาโรงเรียนวิถีพุทธ ดำเนินตามรอยยุคลบาท โดยใช้กลยุทธ์ "บวร" อยู่ในระดับมาก ตามลำดับ ข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด คือมีการนำผลการประเมินมาใช้ปรับปรุงพัฒนาโครงการอย่างต่อเนื่องอยู่ในระดับมาก
4. ผลการประเมินด้านผลผลิต(Product Evaluation) ความคิดเห็นโดยรวม อยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายข้อ เรียงตามค่าเฉลี่ยจากมากไปน้อย ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ นักเรียนมีสุขภาพจิต ที่ดี ร่าเริงแจ่มใส และมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีอยู่ในระดับมากที่สุด รองลงมา นักเรียนปฏิบัติตนในการอยู่ร่วมกันและทำงานร่วมกันได้อย่างมีความสุข อยู่ในระดับมากที่สุด นักเรียนแต่งกายสะอาด เรียบร้อย ถูกต้องตามกาลเทศะ อยู่ในระดับมากที่สุด ตามลำดับ ส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด คือ นักเรียนมีความรู้ เข้าใจหลักธรรมสามารถเผยแพร่และนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้เหมาะสม อยู่ในระดับมาก